Plant-based diet กับวิธีกินผิดๆ ที่ยังอาจทำร้ายร่างกาย

แม้ว่าจะเลือกกินแต่พืช ไม่กินเนื้อสัตว์แล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะสุขภาพดีเสมอไป คุณอาจยังพลาดบางอย่างไป

Plant-based diet หรือเทรนด์การกินอาหารเน้นพืช ไม่กิน หรือเลี่ยงเนื้อสัตว์ให้น้อยที่สุด เป็นวิถีการกินของใครหลายๆ คนที่อยากรักษาสุขภาพให้ดีขึ้น เนื่องจากการหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์สามารถลดการรับประทานไขมันจากสัตว์ และจากงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า การหันมารับประทานอาหารจากพืชมากขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อร้ายแรงได้หลายชนิด เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน หลอดเลือดสมอง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การรับประทาน Plant-based diet ให้ได้ประโยชน์ ไม่ใช่เพียงแต่การเลือกกินแต่พืชเพียงอย่างเดียว เพราะไม่ใช่พืชทุกชนิดที่กินเยอะๆ แล้วจะดีต่อสุขภาพ การเลือกประเภทของพืชผักผลไม้ที่จะกินก็สำคัญเช่นกัน

Plant-based diet กับวิธีกินผิดๆ ที่ยังอาจทำร้ายร่างกาย

จากรายงานการศึกษาของ Harvard ที่ตีพิมพ์ลงในวารสารออนไลน์ Neurology เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2021 ที่ผ่านมา ระบุว่า จากข้อมูลรายงานข้อมูลสุขภาพด้วยตัวเองจากผู้ชายและผู้หญิงสุขภาพดีราว 210,000 คนที่ตอบแบบสอบถามตามระยะเวลามาตลอด 25 ปี เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างคนที่รับประทานอาหารจากพืชที่ไม่ดีต่อสุขภาพ (เช่น ขนมปังขาว พิซซ่า มันฝรั่ง และอาหารที่ใส่น้ำตาลเพิ่ม) กับคนที่รับประทานอาหารจากพืชที่ดีต่อสุขภาพ (เช่น ผักใบเขียว โฮลเกรน ถั่ว) พบว่า คนที่กินอาหารจากพืชที่ดีต่อสุขภาพสามารถลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองได้มากถึง 10% โดยเฉพาะภาวะหลอดเลือดสมองตีบตัน ที่เกิดขึ้นจากการอุดตันของการไหลเวียนของเลือด

ดังนั้น แม้ว่าจะกินอาหารจากพืชเหมือนกัน แต่ควรเลือกกินคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง โฮลเกรน เน้นผักใบเขียว ถั่ว มากกว่าแป้งขัดขาว ขนมปังขาว น้ำตาล ถึงจะดีต่อสุขภาพ

อนึ่ง การกินอาหารจากพืช (plant-based diet) เป็นเพียงหนทางหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองเท่านั้น ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องทำควบคู่กันไปเพื่อลดความเสี่ยงของโรคต่างๆ ทั้งออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อบริหารกล้ามเนื้อหัวใจและปอด นอนหลักพักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด ลดความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด และน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ จำกัดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอลที่ดื่ม และไม่สูบบุหรี่ หากทำได้ตามนี้จะช่วยลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองและโรคอันตรายอื่นๆ ได้แน่นอน

ขอขอบคุณ

ข้อมูล :Harvard Health Publishing

ภาพ :iStock

You may also like...

ใส่ความเห็น